|
|
หลวงพ่อสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย พุทธศิลป์เชียงแสน สิงห์ ๓ เกศดอกบัวตูม (มีกลีบดอก) ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว สูง (จากพระเพลาถึงพระนลาฏ) ๓๐ นิ้ว ประดิษฐานเป็นพระประธานประจำวัดอมฤตสิทธาราม และเป็นพุทธปูชนียวัตถุที่พึ่งที่ระลึกศูนย์รวมจิตใจของชาวตำบลอมฤต อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มาเป็นเวลานานหลายร้อยปี วัดอมฤต ตั้งอยู่ ที่หมู่ ๓ ต.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา หน้าวัด (ทิศตะวันออก) ติดริมฝั่งแม่น้ำน้อย หลังวัด (ทิศตะวันตก) ติดที่ดินของ คุณยายเจริญ แย้มศรีบัว (แย้มกลีบบัว) บุตรีของคุณตาเล็ก คุณยายพริ้ง ฤทธิเรือง ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๘คุณยายเจริญได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดหลังวัด (ทิศตะวันตก) เนื้อที่ ทั้งหมด ๓ ไร่ ๒๐ ตารางวา ถวายให้แก่วัดอมฤตเพื่อเป็นศาสนสมบัติไว้ในพระพุทธศาสนา ปัจจุบันทิศตะวันตกของวัดจึงจดถนนสายผักไห่-วิเศษไชยชาญ |
ย้อนยุคจากปัจจุบันไปประมาณ ๓๐ ปีขึ้นไป แม่น้ำน้อย ซึ่งแยกจากลำน้ำเจ้าพระยาที่ตำบลพระงาม อ. พรหมบุรี จ. สิงห์บุรี ไหลผ่าน อ. วิเศษไชยชาญ จ. อ่างทอง ผ่าน อ. ผักไห่ ไปบรรจบกับ แม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง ที่สามแยกบางไทร อ. บางไทร จ. พระนครศรีอยุธยา แล้วไหลล่องผ่านลานเท จ. ปทุมธานี สู่กรุงเทพมหานคร เพื่อออกปากอ่าวไทย เป็นแม่น้ำสายสำคัญของวิถีชีวิตคนที่อาศัยอยู่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำน้อย ทั้งด้านการอุปโภค-บริโภค ตลอดจน เป็นทางคมนาคมสายเศรษฐกิจ ยังความเจริญแก่วิถีชีวิตตลอดจนอารยธรรมประเพณีท้องถิ่นของชาวชนบทตลอดแม่น้ำ สายนี้ ที่สำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ควรที่จะนำมากล่าวถึง ในคราวเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ก็ได้เสด็จผ่านมาทาง อ.ผักไห่ นี้ ปรากฏความตามที่ทรงบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขา เรื่อง เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ตอนหนึ่งว่า...ตำบลผักไห่นี้บริบูรณ์ครึกครื้นกว่าเมืองสุพรรณเป็นอันมาก นาที่ว่าเสียนั้นก็เสียในที่ลุ่มมาก ที่ซึ่งไม่ลุ่มข้าวงามดีทั้งนั้น... และวันที่ ๒๔ ตุลาคม ปีเดียวกันนั้น ก็ได้เสด็จพระราชทานถวายผ้าพระกฐินแก่คณะสงฆ์วัดตึกคชหิรัญ ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลอมฤต ดังนั้นจึง ปรากฏเป็นเรื่องราวหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ บุคคล วัด ในเขตอำเภอผักไห่ (อำเภอเสนาใหญ่) ที่ถูกบันทึกจารึกอยู่ในลายพระราชหัตถเลขาในการเสด็จประพาสต้นคราวนั้นหลายอย่างด้วยกันนับเป็นประวัติศาสตร์ของชาติและมาตุภูมิอันชาวอำเภอผักไห่ ทั้งหลายมีความภาคภูมิใจและมิควรหลงลืม โดยเหตุที่เป็นแม่น้ำเส้นทางสายเศรษฐกิจนี้เอง จึงก่อให้เกิดเป็นเรื่องเล่าขานที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและผูกพันกับจิตวิญญาณของชาวตำบลอมฤตมาตราบจนปัจจุบัน กล่าวคือ ในอดีตกาลนั้น แม่น้ำน้อยนี้เป็นเส้นทางลำเลียงท่อนซุง (ส่วนใหญ่เป็นไม้สัก) จากภาคเหนือ ไหลล่องตามลำแม่น้ำสู่ภาคกลาง เพื่อนำมาแปรรูปตามโรงเลื่อยจักรที่ตั้งอยู่ริมสองฟากฝั่งแม่น้ำ บรรดาพ่อค้าไม้ซุงเลือกเอาหน้าวัดอมฤตเป็นที่จอดพักแพซุงทั้งหลายเหล่านั้นเพื่อรอเวลาที่จะค่อยทยอยไหลตามลำน้ำไปสู่ที่หมาย บางครั้งต้อง จอดรออยู่นานหลายวัน เป็นสัปดาห์ หรือแรมเดือน กว่าจะเคลื่อนย้ายออกไป ไม่นานขบวนแพซุงรายใหม่ก็จะไหลตามมาจอดพักอีกเป็นเช่นนี้อยู่ตลอดปี บริเวณหน้าวัดอมฤตจึงไม่เคยขาดแพซุงที่จะมาจอดพัก เป็นเวลานานนับชั่วอายุคน และก็มีบรรพบุรุษเล่าถึงประวัติหลวงพ่อสัมฤทธิ์องค์นี้สืบต่อๆ กันมาว่า ท่านติดมากับแพซุง มาโผล่พ้นน้ำที่หน้าวัดนี้ ชาวบ้านจึงอัญเชิญท่านขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานประจำวัด และด้วยเหตุที่องค์ท่านหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ จึงได้พากันถวายพระนามท่านว่า หลวงพ่อสัมฤทธิ์ |
ดังได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นนั้นว่า หลวงพ่อสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปพุทธศิลป์เชียงแสน สิงห์ ๓ ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ทางภาคเหนือในยุคสมัยที่อาณาจักรเชียงแสนเจริญรุ่งเรืองมาก่อน แล้วจึงแผ่ขยายถอยร่นลงมาถึงยุคกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นอกจากนั้น พุทธศิลป์ที่ปรากฏอยู่ในองค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นอุทเทส-สิกเจดีย์ในแต่ละยุคสมัยนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของชาติ ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของบ้านเมืองแล้ว ยังเป็นประจักษ์พยานแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของประชาชนในยุคสมัยนั้นๆที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาด้วย จากคำเล่าขานของบรรพบุรุษ ชาวตำบลอมฤตนั้นหากจะพิจารณาโดยเหตุผลก็พอจะลงสันนิษฐานได้ว่า อาจมีพ่อค้าซุงผู้มีศรัทธาอาราธนานิมนต์อัญเชิญท่านล่องลงมาจากภาคเหนือพร้อมกับแพซุง ส่วนจะอัญเชิญมาจากที่ใด ตั้งแต่เมื่อไรคงเป็นข้อสงสัยที่หาคำตอบได้ยาก ต้องขึ้นอยู่กับศรัทธาเลื่อมใสของผู้ใคร่ครวญ แต่ด้วยพุทธานุภาพของคุณพระรัตนตรัย หรือด้วยฤทธานุภาพของเทวดาที่รักษาองค์ท่านอยู่ ก็สร้างความเคารพนับถือแก่ชาวตำบลอมฤตตลอดเวลานานมาแล้วนับได้ หลายชั่วอายุคน ใครมีทุกข์ร้อนอันใด ไปอธิษฐานขอพรจากท่าน หากธรรมดาของโลก เมื่อมีของดีวิเศษอยู่ที่ใดย่อมเป็นเป้าหมายของคนพาล หลวงพ่อสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นโลหะปูชนียวัตถุก็ไม่วายที่ท่านจะถูกจ้องปองร้าย กล่าวคือมีทรชนพยายามที่จะมาโจรกรรมเอาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ไปจากหัวใจชาวตำบลอมฤตมาแล้วหลายครั้ง แต่มิเคยกระทำการได้สำเร็จ มีเหตุให้ทางวัดรู้ตัวก่อนทุกครั้งไป ครั้งล่าสุดเมื่อประมาณ ๑๐ ปีมานี้ คนร้ายได้กระทำการโจรกรรมในยามดึกสงัดยกเอาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ออกจากแท่นประดิษฐานไปได้ไกลประมาณ ๓๐๐ เมตร ภิกษุสามเณรในวัดรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น พอ ทราบว่าหลวงพ่อถูกขโมย จึงรีบเคาะระฆังรัวบอกสัญญาณถึงเหตุร้ายที่เกิดขึ้นให้ภิกษุสามเณรและประชาชนในละแวกวัดได้ ทราบ เหล่ามิจฉาชีพจึงหนีเอาตัวรอด ทิ้งหลวงพ่อให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นดินไว้ข้างศาลาริมทางถนนสายผักไห่ วิเศษไชยชาญ
หากจะมีข้อสงสัยเกิดแก่ท่านที่สนใจศรัทธาเลื่อมใสองค์หลวงพ่อสัมฤทธิ์ ขึ้นมาว่า หลวงพ่อมาประดิษฐาน ณ วัดอมฤตตั้งแต่เมื่อใด ? เราก็ควรจะต้องพิจารณาถึงอายุของวัดอมฤตสิทธารามนี้ประกอบด้วยว่า สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ? ในพื้นที่เขตตำบลอมฤต มีวัดที่มั่นคงถาวรมาแต่บรรพกาลจำนวน ๓ วัด ด้วยกัน คือ
๑. วัดอมฤตสิทธาราม ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำน้อย บ้านอมฤต หมู่ที่ ๓ ตำบลอมฤต ซึ่งจากหนังสือประวัติวัด ทั่วราชอาณาจักรเล่ม ๓ ของกองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า ประกาศตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ปัจจุบันมีอายุ ๑๕๓ ปี ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และจะขออ้างเหตุผลให้ท่านผู้อ่านฟังต่อไปข้างหน้า วัดอมฤตมีเจ้าอาวาสมาแล้ว เท่าที่ทราบนาม ๖ รูป คือ ๑. พระอธิการยา ๒. พระอธิการขาว ๓. พระอธิการจอน ๔. พระอธิการมหาเจียก (ปธ. ๓) พ.ศ. ๒๔๗๐-พ.ศ.๒๔๘๓ ๕. พระครูกิตติโสภิต (พระมหาประสิทธิ์ ปธ. ๖) พ.ศ. ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๑๙ ๖. พระครูอมรธรรมานุวัตร พ.ศ. ๒๕๑๙- ปัจจุบัน
๒. วัดบ้านอ้อ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ตำบลอมฤต ฝั่งขวาของคลองบ้านอ้อ ซึ่งเป็นคลองลัดแม่น้ำน้อยจากหมู่ ๗ ตำบลอมฤต (ปากคลองติดกับวัดตึกคชหิรัญ) ทวนกระแสน้ำไปเชื่อมกับคลองขุนอิน (ซึ่งเป็นคลองขุด) ผ่านตำบลลาดน้ำเค็ม ตำบลโคกช้าง ตำบลบ้านแคอำเภอผักไห่ บรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางปลากด อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ประวัติวัดระบุว่าสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐แผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แสดงว่าปัจจุบันมีอายุประมาณ ๒๕๓ ปีแล้ว แม้วัดบ้านอ้อจะสร้างขึ้นแต่ครั้งปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่วัดบ้านอ้อก็ถูกทอดทิ้งปล่อยให้เป็นวัดร้างเสียเป็นเวลานานตั้ง ๑๕๐ปี คือตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ จนปีพ.ศ.๒๔๖๐ พระอธิการเจียม สุมโน จึงได้เป็นประธานนำพาขณะญาติโยมบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ถึงแม้วัดจะถูกทิ้งร้างนานขนาดนั้นก็ยังมีถาวรวัตถุสำคัญเหลือให้เห็นเป็นสักขีพยานคือ อุโบสถหลังเดิมที่หลังคามุงด้วยแป้นไม้สัก ซึ่งพระอธิการเจียม ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมในเวลาต่อมา ยังปรากฏเป็น วิหาร หรือ โบสถ์น้อย คู่กับวัดบ้านอ้อมาจนถึงปัจจุบันนี้ และข้าพเจ้าจะชี้ให้ท่านผู้อ่านพิจารณาถึง ความเกี่ยวพันกับอายุของวัดอมฤตต่อไปข้างหน้าในหัวข้อ ถาวรวัตถุภายในวัดอมฤต วัดบ้านอ้อ มีเจ้าอาวาสมาแล้ว เท่าที่ทราบนาม ๔ รูป คือ ๑. พระอธิการแดง ๒. พระอธิการเจียม สุมโน พ.ศ. ๒๔๖๐- พ.ศ. ๒๔๘๔ ๓. พระครูประดิษฐ์ศีลคุณ พ.ศ. ๒๔๘๔- พ.ศ. ๒๕๔๑ ๔. พระครูวิบูลประชากิจ พ.ศ. ๒๕๔๑ ปัจจุบัน
|
๓. วัดตึกคชหิรัญ ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาแม่น้ำน้อยหมู่ที่ ๗ ตำบลอมฤต ทิศใต้จดปากคลองบ้านอ้อ ทิศตะวันตกมีคลองบ้านอ้อผ่ากลาง วัดนี้เดิมเป็นบ้านตึกทรงเก๋งจีนของหลวงอภัยเภตรา (ช้าง) อดีตนายอำเภอผักไห่ (เสนาใหญ่) สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ในบั้นปลายชีวิตหลวงอภัยเภตรา (ช้าง) ได้พร้อมใจกับภรรยาที่ชื่ออำแดงเงิน ยกบ้านตึกหลังนี้พร้อมที่ดินประมาณ ๕ ไร่เศษ ถวายสร้างวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ (ก่อนจะถึงแก่กรรมเพียง ๕ วัน) และเรียกกันว่าวัดตึกตลอดมา จนเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช๒๔๕๑ พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นทางชลมารคผ่านมาทางอำเภอผักไห่ เสด็จพระราชทานถวายผ้าพระกฐินที่วัดนี้ ทรงทราบถึงกุศลศรัทธาของหลวงอภัยเภตรา (ช้าง = คช ) และภรรยา (เงิน = หิรัญ ) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดเป็นอนุสรณ์แก่ทั้งสองท่านนั้นว่า วัดตึกคชหิรัญ ต่อมาทายาทของตระกูลนี้ก็ได้ใช้ คชหิรัญ เป็นชื่อสกุลประตระกูลสืบมาจนปัจจุบัน วัดตึกคชหิรัญ มีเจ้าอาวาสมาแล้ว ๓ รูป คือ ๑. พระครูสุทธาจารวัตร พ.ศ. ๒๔๔๕ - พ.ศ. ๒๔๗๗ ๒. พระอุดมพิทยากร พ.ศ. ๒๔๗๘ - พ.ศ. ๒๕๒๘ ๓. พระครูพิพัฒน์วรวิทย์ พ.ศ. ๒๕๒๘ - พ.ศ. ปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาจากประวัติทั้ง ๓ วัดในเขตตำบลอมฤต ก็จะเห็นว่าวัดตึกคชหิรัญนั้นมีหลักฐานที่ชัดเจนแน่นอนว่าสร้างขึ้นแต่เมื่อใด ส่วนอีกสองวัดนั้นเรามาช่วยกันพิจารณาเรื่องราวและเหตุผลกันก่อนหาข้อสรุป
จากหนังสือประวัติทั่วราชอาณาจักรกล่าวว่า วัดบ้านอ้อสร้างขึ้นในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สำหรับวัดอมฤตนั้นระบุว่าประกาศตั้งวัดเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๐๐ แสดงว่าวัดบ้านอ้อปัจจุบันมีอายุ ประมาณ ๒๕๓ ปี วัดอมฤตมีอายุประมาณ ๑๕๓ ปี วัดบ้านอ้อถูกสร้างขึ้นก่อนวัดอมฤต ประมาณ ๑๐๓ ปี ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง โดยขอยกเอาเหตุผลและหลักฐาน ๔ อย่างนี้ ฝากให้ท่านผู้อ่านพิจารณา คือ |
๑. การตั้งหลักแหล่งขุมชน เป็นธรรมดาของการริเริ่มก่อตั้งถิ่นฐานหรือชุมชนของมวลมนุษยชาติ ต้องเลือกเอาทำเลและชัยภูมิที่อุดมสมบูรณ์ในการประกอบสัมมาอาชีพ สะดวกสบายต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และเมื่อมีการรวมตัวกันของชุมชนตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยขึ้นได้แล้ว ย่อมคิดถึงที่พึ่งทางด้านจิตใจตามศรัทธาเลื่อมใสของตน แน่นอนที่สุดสำหรับคนไทยแล้วก็คือพระพุทธศาสนา บ้านอมฤต ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำน้อยซึ่งเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์หลากหลายด้วยกุ้ง-ปลา และนาข้าว ทั้งเป็นเส้นทางคมนาคมสายเศรษฐกิจและมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยเส้นหนึ่ง ดังได้
กล่าวแล้วเบื้องต้น วัดอมฤตตั้งอยู่ที่บ้านอมฤต หมู่ ๓ ตำบลอมฤตแสดงว่าเป็นจุดกำเนิดเบื้องต้นของชุมชนชาวตำบลอมฤตทั้งหมด เมื่อมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นแน่นหนาแล้วจึงมีการพัฒนาขยายอาณาเขตของชุมชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีถึง ๑๑ หมู่บ้าน ส่วนวัดบ้านอ้ออยู่ที่หมู่ ๘ ตำบลอมฤต ตั้งอยู่ริมคลองบ้านอ้อซึ่งเป็นคลองเล็กๆ ไม่น่าจะมีความสำคัญเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจของระบบเกษตรกรรมเท่าใดนัก นอกจากเพียงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การคมนาคมสัญจรของประชาชนหลังจากชุมชนได้แผ่ขยายเจริญรุ่งเรืองขึ้นแล้ว การขยายตัวของชุมชนจากหมู่ที่ ๓ กว่าจะถึงหมู่ที่ ๘ คงจะต้องใช้เวลานานหลายสิบปี หรืออาจเกือบถึงร้อยปีก็ได้เพราะประชากรในยุคนั้นยังมีน้อยมาก เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลนี้แล้ว วัดอมฤตน่าจะต้องเกิดมีขึ้นก่อนวัดบ้านอ้อเป็นแน่นอน ตามประวัติวัดบ้านอ้อระบุว่าสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐ แผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปัจจุบันอายุประมาณ ๒๕๓ ปี ถ้าข้อมูลนี้ถูกต้อง วัดอมฤตก็ต้องถูกสร้างขึ้นก่อนหน้านี้ และมีอายุมากกว่านี้ นับเกือบร้อยปีขึ้นไป อนึ่ง มีท่านผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า บ้านอ้อ เป็นชุมขนที่ก่อตั้งขึ้นก่อน บ้านอมฤตส่วนการกำหนดเรียกลำดับที่หมู่บ้านจากหมู่ที่๑ หมู่ที่ ๑๑ นั้น เป็นการกำหนดขึ้นภายหลัง ซึ่งประเด็นนี้ข้าพเจ้าก็ไม่อาจปฏิเสธ แต่ขอตั้งข้อสังเกตฝากให้ท่านที่สนใจไว้พิจารณาเพิ่มเติมอีก ๓ ประเด็น คือ
๑.๑ แม่น้ำน้อยย่อมมีความสำคัญ มีความอุดมสมบูรณ์และกว้างขวางสะดวกสบาย เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ( การทำนา การทำประมงปลาน้ำจืด ตลอดจนการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร ) มีความแตกต่างกว่าคลองบ้านอ้ออย่างเห็นได้ชัดเจน คลองบ้านอ้อเป็นคลองเล็กๆ แม้เรือกระแชงบรรทุกข้าวเปลือกก็ไม่สามารถผ่านได้ฤดูแล้งบางช่วงบางตอนน้ำตื้นเขิน เหตุไฉนบรรพบุรุษจึงไม่เลือกเอาที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สะดวกสบายเป็นที่ตั้งหลักแหล่งชุมชนก่อน
๑.๒ ในคราวเมื่อพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จทางชลมารคประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น ก็ปรากฏว่ามีบรรพบุรุษในเขตพื้นที่บ้านอมฤต ที่วิริยะอุตสาหะสร้างคุณงามความดีและมีความชอบ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อยู่ก่อนแล้วหลายท่านด้วยกัน เท่าที่ทราบ เช่น ๑.๒.๑ พระพิชิตชลธาร (บรรดาศักดิ์ก่อนหน้านี้นี้ คือ หลวงอุดมภักดี ต้นตระกูล อุดมภักดี ไม่ทราบนามเดิม แต่ทายาทของท่าน*เล่าตามคำบอกของบรรพบุรุษว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเรียกท่านด้วยพระเมตตาอย่างคุ้นเคยเป็นกันเองว่า เจ้าหนวด ) ภรรยาชื่อม้วน น้องสาวของคุณยายพริ้ง ฤทธิเรือง บ้านอยู่ติดวัดอมฤตด้านทิศใต้ หมู่ ๓ ต. อมฤตท่านมีแต่บุตรสาว ๔ คน หามีบุตรชายไม่ ๑.๒.๒ หลวงวารีโยธารักษ์ (อ่วม ต้นตระกูลญาณวารี) ปลูกบ้านตึกอยู่ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำน้อย เหนือปากคลองบางทอง ใต้วัดอมฤต หมู่ ๓ ต. อมฤต ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีการจัดระเบียบการปกครองใหม่ ยกฐานะบ้านผักไห่เป็นอำเภอแยกออกจากแขวงเสนาใหญ่ โดยมีหลวงวารีโยธารักษ์ เป็นนายอำเภอคนแรก ก็ได้อาศัยบ้านตึกหลังนี้เป็นที่ว่าการอำเภอผักไห่แห่งแรก ก่อนที่จะย้ายไปอาศัยศาลาท่าน้ำวัดตาลานเหนือ (หมู่ ๔ ต.ตาลาน) และมาอยู่ที่ว่าการอำเภอปัจจุบันในเวลาต่อมา ตามหลักฐานจดหมายเหตุในคราวเสด็จประพาสทางชลมารคครั้งนั้นกล่าวไว้ด้วยว่า ได้มาจอดเรือพระที่นั่งที่หน้าบ้านตึกหลังนี้ ปัจจุบันทายาทรื้อออกเสียแล้ว ๑.๒.๓ ขุนพิทักษ์บริหาร ( พึ่ง ต้นตระกูล มิลินทวณิช)ปลูกบ้านไม้สัก ๒ ชั้นหลังใหญ่โตมาก อยู่ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำน้อย เหนือวัดอมฤต หมู่ ๒ ต. อมฤต ทาด้วยสีเขียว คนทั่วไปจึงเรียกกันว่าบ้านเขียว ในบั้นปลายต่อมานางมิลินทวณิชเสวี ( จ่าง ) ผู้เป็นภรรยาได้ยกบ้านเขียวนี้ให้เป็นสมบัติของกระทรวงมหาดไทยเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เจตนาของผู้บริจาคไม่สมประสงค์ ปัจจุบันบ้านเขียวหลังนี้จึงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ๑.๒.๔ หลวงอภัยเภตรา ( นามเดิม ช้าง ต้นตระกูลคชหิรัญ) อดีตนายอำเภอผักไห่ (แขวงเสนาใหญ่) ผู้ถวายบ้านพร้อมที่ดินสร้างวัดตึกคชหิรัญ ดังกล่าวแล้วเบื้องต้น ๑.๒.๕ ร.ต.อ. ขุนอุ่นชนบท ( อุ่น โพโต) มีภูมิลำเนาอยู่ชุมชนหัวเลน หมู่ ๕ ต. อมฤต ท่านเป็นบุตรเขยของ ท่านเจ้าคุณพระพิชิตชลธาร ภรรยาชื่อเกตุ
ถ้าจะว่าบ้านอมฤตเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นภายหลัง ก็มีข้อควรพิจารณาว่าเหตุใดจึงมีบุคคลสำคัญของบ้านอมฤตได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางอยู่ก่อนที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ จะเสด็จประพาสต้นครั้งนั้นตั้งหลายท่าน รวมทั้งการเลือกเอาบ้านหลวงวารีโยธารักษ์ หมู่ที่ ๓ ต. อมฤต เป็นสถานที่ทำการอำเภอผักไห่แห่งแรกเมื่อมีการแยกการปกครองออกจากแขวงเสนาใหญ่ก็ย่อมชี้ชัดว่าบริเวณแถบนี้เป็นชุมชนใหญ่ที่มีความเจริญไม่น้อยทีเดียว สำหรับในเขตชุมชนบ้านอ้อไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ หรือหากจะมีแต่ข้าพเจ้าไม่ได้รับทราบข้อมูลก็ต้องขออภัยในความผิดพลาดบกพร่อง
๑.๓ ถ้าชุมชนบ้านอ้อตั้งขึ้นก่อนชุมชนบ้านอมฤต และมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงขนาดมีวัดที่ถาวรมั่นคงเป็นศูนย์รวมจิตใจ แต่เหตุไฉนจึงปล่อยให้วัดบ้านอ้อร้างอยู่เป็นเวลานานตั้ง ๑๕๐ ปี (ก่อนที่จะเป็นวัดร้างนั้นมีอุโบสถแล้ว) ออกจะเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของชาวไทยผู้ที่เคารพนับถือพระพุทธศาสนา เพราะวิสัยของชาวไทยพุทธถ้าบ้านไม่ร้างแล้วจะไมยอมปล่อยให้วัดร้างเป็นเด็ดขาด
และอีกประการหนึ่งในระยะที่วัดบ้านอ้อร้างนั้น คนในคลองบ้านอ้อตั้งแต่ปากคลองด้านเหนือ (ติดคลองขุนอิน) จนถึงปากคลองทิศใต้ และคนที่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำน้อยเขตตำบลอมฤตตั้งแต่ชุมชนห้วยจระเข้ ปากคลองขุนอิน เรื่อยมาจนถึงชุมชนบ้านตึกของหลวงวารีโยธารักษ์ จนถึงปากคลองบางทอง ซึ่งประชาชนในเขตพื้นที่ที่กล่าวนั้นมีวัดอมฤตและหลวงพ่อสัมฤทธิ์เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณแต่ครั้งบรรพชนมาจนปัจจุบัน ถ้าวัดอมฤตไม่ถูกสร้างขึ้นก่อนแล้วบรรพบุรุษเหล่านั้นเอาอะไรเป็นที่พึ่งด้านจิตใจตลอดจนการปฏิบัติศาสนพิธี เพราะวัดตึกคชหิรัญก็ยังไม่เกิดมีขึ้นนอกจากวัดชีโพน (ชีตาเห็น) ต. ผักไห่ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำน้อยตรงข้ามกับวัดตึกคชหิรัญ (ตามประวัติระบุว่าสร้างขึ้นแต่ พ.ศ. ๒๓๓๐)และถ้าพิจาณาถึงเส้นทางการคมนาคมทางน้ำแล้ววัดชีโพนนี้ก็อยู่ห่างไกลจากชุมชนในคลองบ้านอ้อและชุมชนตำบลอมฤต (ด้านทิศเหนือ) ที่กล่าวถึงนั้นค่อนข้างมาก นี้ก็เป็นข้อที่ควรนำมาพิจารณาประกอบอีกประเด็นหนึ่งว่าวัดอมฤตน่าจะเกิดมีขึ้นแล้วก่อนที่วัด บ้านอ้อจะร้าง
|
|
๒. ถาวรวัตถุภายในวัดอมฤต บริเวณที่ตั้งอุโบสถวัดอมฤตปัจจุบันนี้เดิมมีถาวรวัตถุเก่าแก่ตั้งอยู่คู่กัน ๒ หลัง คือ วิหาร (โบสถ์น้อย)หลัง ๑ และอุโบสถ (เก่า)หลัง ๑ ในสมัยท่านพระครูกิตติโศภิต (พระมหาประสิทธิ์ นามสกุล พวงลำเจียก ปธ. ๖ ) เป็นสมภารเจ้าวัด ท่านพิจารณาเห็นว่าทั้งวิหารและอุโบสถหลังเดิมนั้นชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว (วิหารชำรุดทรุดโทรมมากกว่าโบสถ์) จึงให้รื้ออกเสียทั้งสองกลัง (เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นธรรมเนียมนิยมของบรรพบุรุษแต่โบราณกาล วัดเก่าแก่ที่มีแต่อุโบสถอยู่แล้ว หากอุโบสถนั้นชำรุดทรุดโทรม ไม่สะดวกหรือไม่ปลอดภัยในการใช้ประกอบสังฆกรรมอีกต่อไป จำเป็นจะต้องสร้างอุโบสถหลังใหม่ จะไม่รื้ออุโบสถเก่าทิ้ง จักสร้างอุโบสถหลังใหม่ในสถานที่ใหม่เป็นคู่กันกับอุโบสถเดิม แล้วเรียกอุโบสถเดิมนั้นว่าวิหาร หรือ โบสถ์น้อย ด้วยความเคารพและศรัทธาในถาวรวัตถุนั้นนอกจากวัดนั้นจะมีสถาน คับแคบไม่เอื้ออำนวยในการที่จะคงไว้ มีความจำเป็นจริงๆ จึงจะรื้อออกแล้วสร้างใหม่แทนในที่เดิม
หากข้อสันนิษฐานในธรรมเนียมประเพณีนี้ถูกต้อง แสดงาวัดอมฤตมีอุโบสถมาแล้วอย่างน้อย ๒ หลัง หลังปัจจุบันนี้เป็นหลังที่๓ อุโบสถในยุคโบราณก่อสร้างด้วยกรรมวิธีก่ออิฐถือปูน แต่ละหลังมีอายุมากกว่า ๑๐๐ หรืออาจถึง ๒๐๐ ปี ทั้งนั้น ( อุโบสถวัดบ้านอ้อหลังปัจจุบันก่อสร้างด้วยกรรมวิธีก่ออิฐถือปูน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ซ่อมแซมปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ปัจจุบันอายุ ๔๗ ปี ก็ยังอยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง ) หากวัดอมฤตประกาศตั้งวัดในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ จริง ดังที่กล่าว ปัจจุบันมีอายุประมาณ ๑๕๒ ปี แต่มีอุโบสถมาแล้วถึง๓ หลัง ย่อมไม่ควรแก่เหตุและผลแน่นอน เพราะวัดบ้านอ้อสร้างมาแล้ว ๒๕๓ ปี แต่มีอุโบสถเพียง ๒ หลัง ( ดังได้กล่าวแล้วเบื้องต้นในหัวข้อ วัดบ้านอ้อ ) ศาลาการเปรียญเป็นศาลาไม้ใต้ถุนสูงโปร่ง สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๖๐ โดยศรัทธาของ ก๋งตี๋ และคุณยายเภา วานิชกร โดยก๋งตี๋ ซึ่งเป็นผู้เดินทางไปหาซื้อท่อนซุงไม้สักจากจังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วขนไหลล่องลงมาตามลำแม่น้ำ นำมาสร้างศาลานี้โดยเฉพาะด้วยตนเอง ศาลาหลังนี้นี้มีอายุ ๙๓ ปีแล้ว จำต้องมีการซ่อมแซมบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังมั่นคงแข็งแรง หอสวดมนต์สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ในสมัยพระอธิการมหาเจียก อเนกฤทธิ์ เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งท่านมีฝีมือด้านนวกรรมเป็นเลิศ ร่วมกับนายช่างพิณ เรืองรัศมี นายช่างใหญ่ฝีมือยอดเยี่ยมของตำบลอมฤต หรืออำเภอผักไห่ก็ว่าได้ แม้อุโบสถหลังปัจจุบันนี้ก็เป็นฝีมือของนายช่างพิณ (เสียชีวิตเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ขณะมีอายุได้ ๙๙ ปีเศษ) ศาลาการเปรียญและหอสวดมนต์ดังกล่าวทั้งสองหลัง ล้วนสร้างขึ้นแทนของเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมอย่างมากแล้วด้วยกันทั้งนั้นปัจจุบันก็ยังอยู่ในสภาพที่ถาวรมั่นคงและแข็งแรง หากนำเอาถาวรวัตถุภายในวัด ทั้ง ๓ อย่าง คือ อุโบสถ ศาลาการเปรียญหอสวดมนต์ มาพิจารณาประกอบแล้วก็ชวนให้สรุปได้ว่า วัดอมฤตสิทธารามน่าจะมีอายุมากกว่าวัดบ้านอ้อ
|
๓. การเรียกชื่อวัด วัดบ้านอ้อเดิมเรียกกันว่า วัดใหม่บ้านอ้อ เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กผ่านมาแถวหน้าวัด ก็ยังเห็นป้าย วัดใหม่บ้านอ้อ ติดอยู่ที่ศาลาริมน้ำคลองบ้านอ้อ แต่ชาวบ้านทั่วไปทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ตลอดจนคนแก่คนเฒ่าเรียกกันว่า วัดใหม่ น้อยคนเต็มทีที่จะเรียกวัดบ้านอ้อหรือวัดวัดใหม่บ้านอ้อ อาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครเรียกชื่ออย่างนั้นเลยก็ได้แม้ปัจจุบันคนที่มีอายุ ๔๐ ปีขึ้นไปก็ยังรู้จักและพูดถึงวัดนี้กันว่าวัดใหม่ด้วยความเคยชิน เมื่อมีวัดใหม่เกิดขึ้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าต้องมีวัดเก่าอยู่ก่อนแล้ว วัดที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จึงเรียกว่าวัดใหม่ ไม่วัดใหม่นั้นจะถูกตั้งชื่อว่าอย่างไรก็ช่าง เพราะเป็นธรรมดาหรือปกติสามัญวิสัยของการสื่อสารที่เข้าใจง่าย แล้ววัดเก่าในเขตตำบลอมฤตที่มีอยู่ก่อนนั้นคือวัดอะไรย่อมไม่ใช่วัดตึกแน่นอน นอกจากวัด อมฤตสิทธาราม
อนึ่ง หลักฐานข้อมูลของวัดบ้านอ้อกล่าวว่า หลังจากวัดบ้านอ้อถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานานประมาณ ๑๕๐ ปี ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ พระอธิการเจียม สุมโน จึงได้เป็นประธานนำพาคณะศรัทธาญาติโยมบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ถาวรวัตถุที่สำคัญคือสร้างอุโบสถหลังปัจจุบันขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๖๖ จากนั้นจึงพากันเรียกว่าวัดใหม่บ้านอ้อ |
๔. ต้นโพธิ์ และต้นสะตือ วัดอมฤตมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านทิศใต้ศาลาการเปรียญ ๑ ต้นอีกต้นหนึ่งอยู่ด้านทิศเหนือศาลาการเปรียญ (ตรงหน้าอุโบสถ) ต้นนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาแต่เริ่มสร้างวัดหรือเมื่อครั้งสร้างอุโบสถหลังแรก และมาหมดอายุขัยตายเองโดยธรรมชาติเมื่อคราวสร้างอุโบสถหลังปัจจุบันเสร็จใหม่ๆ หากจะเทียบเคียงกับประวัติต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระศาสดาประทับนั่งตรัสรู้ ต้นแรกมีอายุได้ ๒๐๐ ปีเศษตายเพราะถูกทำลายโดยมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าอโศกมหาราช ต้นที่สองมีอายุได้ ๘๗๑ ปี ตายเพราะถูกทำลายโดยพระเจ้าศศางกากษัตริย์ฮินดู ต้นที่สามมีอายุถึง ๑,๒๕๘ ปี จึงตายเองตามธรรมชาติ เพราะหมดอายุขัย ต้นปัจจุบันมีอายุได้ ๑๓๐ ปี เมื่อพิจารณาถึงอายุขัยของต้นโพธิ์แล้วนับว่ามีอายุยืนนานหลายร้อยปี ไม่ว่าจะปลูกที่ประเทศอินเดียหรือประเทศไทยอายุขัยก็ไม่น่าจะต่างกันมากนัก
นอกจากต้นโพธิ์แล้ว ยังมีต้นสะตือใหญ่อยู่หลายต้น (ปัจจุบันไม่มีเหลือให้เห็น) ต้นที่ใหญ่ที่สุดอยู่ทิศตะวันตก (ด้านหลังวัด) วัดในชนบทภาคกลางมักจะมีต้นสะตือใหญ่อยู่หลังแทบทั้งนั้นสันนิษฐานว่าคงจะปลูกไว้สำหรับเป็นที่พักร่มพักร้อนของคนเดินทาง (รวมทั้งกระบือและโคด้วย) แต่ต้นสะตือหลังวัดอมฤตนี้ดูใหญ่ โตมากกว่าที่วัดอื่นในแถบแถวนั้น ต้นใหญ่ใบดกหนาแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาเป็นปริมณฑลเนื้อที่มากกว่า ๑ งาน (๑๐๐ ตารางวา) ในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กเคยถามยายว่า ต้นสะตือนี้ใครปลูก? อายุได้กี่ปีแล้ว? เพราะเห็นต้นมันใหญ่โตแผ่กิ่งก้านสาขากว้างขวางมาก ท่านตอบข้าพเจ้าว่า ยายก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเมื่อยายเกิดมาพอรู้เดียงสาก็เห็นมันมีมันเป็นของมันอยู่อย่างนี้แล้ว (ยายเป็นบุตรสาว ของคุณตาเล็ก คุณยายพริ้ง ฤทธิเรือง เป็นชาวบ้านรามฤทธิ์ (อมฤต)บ้านอยู่ติดวัดอมฤตนี้มาแต่บรรพชน ยายเกิด พ.ศ. ๒๔๓๕ เสียชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่ออายุได้ ๘๒ ปีเศษ) |
จากเหตุผลทั้ง ๔ ประการที่ข้าพเจ้านำมากล่าวอ้างนั้น เป็นความเห็นส่วนตัวที่ฝากให้ท่านผู้สนใจนำไปใคร่ครวญพิจารณาถึงประวัติและอายุของวัดอมฤตสิทธาราม อันผูกพันเกี่ยวเนื่องไปถึงจำนวนปีที่หลวงพ่อสัมฤทธิ์ได้มาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวตำบลอมฤตแต่ครั้งกระนั้น สืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบันนี้ด้วย และถ้าเหตุผลที่ข้าพเจ้ายกมากล่าวอ้างนั้นมีน้ำหนักพอที่จะเชื่อได้ ย่อมหมายถึงว่าปัจจุบันวัดอมฤตมีอายุใกล้เคียงหรือไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ปีและ ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่าหลวงพ่อสัมฤทธิ์ได้มีเมตตาเสด็จจากภาคเหนือไหลล่องตามลำแม่น้ำใหญ่น้อยมาประทับเป็นขวัญและกำลังใจของชาวตำบลอมฤตตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งชุมชนจนกระทั่งมีการสร้างวัด ด้วยเหตุผลดังนี้
๑. วัดอมฤตมีพระพุทธรูปหล่อโลหะคู่กับวัดมาแต่โบราณกาลหลายองค์ด้วยกัน ทั้งประทับนั่งและประทับยืน ก็ไม่ ปรากฏว่ามีการกล่าวขานหรือยกย่องว่ามีพระพุทธรูปองค์อื่นใดมีความสำคัญเกินกว่าหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ๒. บ้านอมฤต ตำบลอมฤต นี้เป็นชื่อที่ถูกเรียกขึ้นใหม่ แทนชื่อเดิมซึ่งเรียกกันว่า บ้านรามฤทธิ์ ตำบลรามฤทธิ์ อำเภอเสนาใหญ่จังหวัดกรุงเก่า** จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอมฤตตั้งแต่เมื่อใด ด้วยเหตุผลใด ข้าพเจ้ายังไม่มีโอกาสศึกษาสืบค้น แต่ในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กได้มีโอกาสติดตามยายบ้าง ย่าบ้าง ไปวัดนี้บ่อยครั้งมาก จำได้ว่าในครั้งนั้นชื่อวัดนี้เขียนด้วยอักษรหลายรูปแบบ มีทั้ง อัมฤทธิ์ อัมริตย์ และ อมฤต ครั้นเมื่อล่วงเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คงเหลือแต่ อมฤต เท่านั้นเป็นที่นิยมใช้เพียงอย่างเดียว
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นใช้ทั่วมณฑลสยามประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ มีชาวตำบลอมฤตซึ่งศรัทธาเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อสัมฤทธิ์ นำนามของท่านไปตั้งเป็นชื่อสกุล คือตระกูล สัมฤทธิ์ และหลายตระกูลใช้คำว่า ฤทธิ์ ซึ่งอาจจะมาจากคำว่า รามฤทธิ์ หรือมาจากพระนามของ หลวงพ่อสัมฤทธิ์ เข้าไปสมาสหรือสนธิกับคำอื่น ตั้งเป็นชื่อสกุลของตนๆเพื่อความเป็นสิริมงคล หลายตระกูล เช่น ฤทธิเรือง (ตระกูลของโยมยายผู้เขียน) , อเนกฤทธิ์ , อินทฤทธิ์ , สุขสัมฤทธิ์ , ปิติฤทธิ์เป็นต้น ชื่อสกุลเหล่านี้เป็นต้นตระกูลของบรรพบุรุษที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตตำบลอมฤต หรือตำบลรามฤทธิ์ นี้ทั้งนั้น
เทวดาที่รักษาองค์หลวงพ่อสัมฤทธิ์ คงจะเป็นเทวดาที่สมถะรักสันโดษ คุณวิเศษของหลวงพ่อสัมฤทธิ์จึงคงเป็นที่ทราบและกล่าวขานกันเฉพาะประชาชนในเขตตำบลอมฤตและตำบลใกล้เคียงไม่เป็นที่แพร่หลายกว้างขวาง และไม่ปรากฏว่ามีการก่อสร้างหลวงพ่อสัมฤทธิ์ขยายแบบใหญ่กว่าองค์เดิมขึ้นสักครั้ง เมื่อข้าพเจ้ามีบุญวาสนาได้นำพาคณะศรัทธาญาติโยมก่อสร้างศาลาอนุสรณ์ ๙รอบนักษัตร (๑๐๘ ปี) หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ณ วัดอาจาโรรังสีต. ไร่ อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร และปรารภจะสร้างพระพุทธ รูปประจำศาลาหลังนี้ จึงคิดมองหาพระพุทธรูปที่ทรงคุณพิเศษ พร้อมด้วยคุณค่าด้านพุทธศิลป์เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้าง และเมื่อมาระลึกถึงคำพูดของโยมมารดาที่เคยพูดให้ฟังแต่ครั้งยังเป็นเด็กเล็กจนโตว่า เมื่อแรกเกิดนั้น ท่านได้นำข้าพเจ้าไปวางไว้ต่อหน้าหลวงพ่อสัมฤทธิ์ จุดเทียนธูปยกให้เป็นลูกของท่าน ตามคติความ เชื่อของพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาและต่อองค์หลวงพ่อ ปรารถนาจะให้ลูกเป็นคนดีมีศีลธรรม ห่างไกลจากบาปกรรมกระทำชั่ว ก็มีแต่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ห้ามไม่ให้คนทำความชั่ว ส่งเสริมให้ทำแต่ความดี เมื่อตกเป็นลูกของพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์หรือลูกของพระสงฆ์ที่นับถือแล้ว จะได้มีความสำรวมระวังสังวรว่าเราเป็นลูกพระ ทั้งเมื่อมีความปรารถนาสิ่งใดและอยากให้สำเร็จสมปรารถนา ก็จะต้องไปอธิษฐานหรือกราบขอพรจากท่าน เมื่อไม่ปรารถนาสิ่งใด ไม่อยากได้ไม่อยากพบในสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานั้น หากพิจารณาแต่เพียงผิวเผินก็เหมือนกับความ งมงาย แต่เมื่อพิจารณาไปให้รอบคอบแล้วก็จะเกิดปัญญามองเห็นอุบายอันลึกซึ้งล้ำเลิศในการที่จะปลูกฝังให้ลูกหลานได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนาโดยแยบยล พระพุทธรูปหรือพระสงฆ์อันเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนจึงมี ลูก อันเกิดจากศรัทธาด้วยวิธีนี้จำนวนไม่น้อย แม้ข้าพเจ้าเองก็พลอยมีลูกประเภทนี้แล้วหลายคนด้วยกัน ทั้งๆ ที่บวชมาก็ยังไม่นานเท่าไร
ด้วยแรงบันดาลใจดังกล่าว ข้าพเจ้าได้ไปกราบหารือขออนุญาตต่อท่านพระครูอมรธรรมานุวัตรเจ้าอาวาส วัดอมฤตสิทธาราม เมื่อท่านทราบความประสงค์ก็เมตตา ยินดี เต็มใจ ไม่ขัดข้อง และได้ไปจุดเทียนธูปขอต่อพระพักตร์องค์หลวงพ่อสัมฤทธิ์ ทั้งขอพรให้การที่คิดกระทำนี้สำเร็จสมปรารถนาทุกประการ
จึงได้ติดต่อ คุณนิธิมา สุรัติอัตรา เจ้าของและผู้จัดการโรงหล่อพระพุทธภัณฑ์ เพื่อเตรียมการหล่อพระพุทธรูปหลวงพ่อสัมฤทธิ์ (จำลอง) เนื้อโลหะทองเหลือง หน้าตัก ๖๙ นิ้ว ซึ่งต้องเริ่มต้นที่ ปั้นหุ่นขึ้นแกนดินแล้วพอกด้วยขี้ผึ้ง โดยมีอาจารย์อำนวย เกิดโภคา เป็นช่างปั้น แล้วจึงตอกทอยเพื่อกันหุ่นทรุด ติดชนวน วางชนวนเทตามจุดต่างๆ ขององค์พระ หุ้มด้วยปูนปลาสเตอร์ผสมทรายผูกด้วยเหล็ก สาดปูนซ้ำอีกครั้ง แล้วจึงนำมาทำปากจอกประกอบพิธีเททองที่วัดอาจาโรรังสี พร้อมกับการบำเพ็ญกุศลประจำปี วันเทสรังสีรำลึก ในวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยคิดค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ๔๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท (ยังไม่รวมปิดทองคำเปลว) และได้ถวายพระนามท่านว่า พระพุทธสัมฤทธิ์พิชิตมาร
ตั้งใจจะเขียนถึงมูลเหตุแห่งการสร้าง พระพุทธสัมฤทธิ์พิชิตมาร พระประธานประจำศาลาอนุสรณ์ ๙ รอบนักษัตร (๑๐๘ ปี) หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดอาจาโรรังสี ต. ไร่ อ. พรรณานิคมจ. สกลนคร ซึ่งจำลองแบบมาจาก หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดอมฤตสิทธาราม ต. อมฤต อ. ผักไห่ จ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งก็ต้องเกี่ยวเนื่องด้วยประวัติวัดอมฤต เสียจนยืดยาว ก็มิได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่นนอกจากปรารถนาจะให้ประวัติปูชนียสถานและปูชนียวัตถุมีความชัดเจนใกล้เคียงความเป็นจริงตามเหตุและผล ผิดพลาดบกพร่องประการใดก็ขออภัยจากท่านผู้รู้โปรดเมตตาชี้แนะทั้งขอกราบขอบพระคุณ พระครูอมรธรรมานุวัตร เจ้าอาวาสวัดอมฤตสิทธารามพระครูวิบูลประชากิจ เจ้าอาวาสบ้านอ้อ พระครูพิพัฒน์วรวิทย์ เจ้าอาวาสวัดตึกคชหิรัญศรัทธาราม รวมทั้ง รศ. ดร.จิรศักดิ์ ตั้งตรงไพโรจน์ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูลทั้งเมตตาแนะนำบอกเล่า และขออนุโมทนากับท่านที่มีความอดทนเพียรพยายามอ่านมาตั้งแต่เบื้องต้นจนอวสานสุดท้ายนี้
|