สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น ปี พ.ศ. ๒๕๕๔
วัดอาจาโรรังสี
บ้านคำข่า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ๔๗๑๓๐
โทร. ๐-๔๒๙๘-๑๐๘๗

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ดับขันธ์วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย พุทธศักราช ๒๕๓๗

       

หลวงพ่อพระพุทธสัมฤทธิ์พิชิตมาร

อาคารพิพิธภัณฑ์ ๑๐๐ ปี

ประวัติหลวงปู่เทศก์

ธรรมเทศนาของ หลวงปู่เทศก์

จดหมายจากสมเด็จพระสังฆราชกับหลวงปู่เทสก์

หลวงพ่อพระพุทธสัมฤทธิ์พิชิตมาร

อาคารพิพิธภัณฑ์ ๑๐๐ ปี

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ห้องภาวนาธรรม

สมเด็จพระสังฆราชกับหลวงปู่เทสก์

 

 

   เราได้อุบัติขึ้นในตระกูล “เรี่ยวแรง”  ที่บ้านนาสีดา  ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อ อุส่าห์  เรี่ยวแรง  เดิมเป็นชาวอำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย หนีความทุกข์ยากมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนางิ้ว ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มารดาชื่อครั่ง เป็นชาวพวน ได้อพยพหนีพวกโจรขโมยมาจากทุ่งย่างเมืองฝาง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้สมรสกับนายอุส่าห์ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๑๐ คน ตายแต่ยังเด็ก ๒ คน เป็นหญิงหนึ่ง ชายหนึ่ง เติบโตมาด้วยกัน ๘ คน ชาย ๔  หญิง ๔

   เมื่อเป็นเด็กอายุได้ ๙ ขวบ ได้เรียนหนังสือภาษาไทยกับพี่ชายซึ่งบวชเป็นพระ กับเด็กๆ ด้วยกันกว่า๑๐ คน ซึ่งสมัยนั้นรัฐบาลขยายโรงเรียนประถมศึกษายังไม่ทั่วถึง นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเรียนการสอนที่นี้ เรียนหนังสือ ปฐม ก.กา มูลบทบรรพกิจ เรียนอยู่ปีกว่าพออ่านได้บ้างแต่ยังไม่คล่อง แต่หนังสือสำหรับพระเณรเรียนในสมัยนั้นซึ่งเขาเรียกว่าหนังสือธรรม (จารเฉพาะธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้า) อ่านได้คล่อง ต่อมาพี่ชายสึกจากพระไม่มีใครสอนเลยเลิกเรียนกันทั้งหมด แล้วได้ออกจากวัดไปช่วยงานบิดามารดา แต่ถึงขนาดนั้นบิดามารดาและญาติๆยังสนับสนุนให้ปฏิบัติพระอยู่ จนชาวบ้านเขาไว้วางใจทุกอย่างในด้านปฏิบัติพระ จนอายุราว ๑๓-๑๔ ปี  เกิดนิมิตความฝันว่า พระธุดงค์ไล่ตีด้วยแส้ วิ่งหนีเอาตัวรอดกระทั่งวิ่งเข้าห้องนอนร้องให้บิดามารดามาช่วย ท่านทั้งสองก็เฉยอยู่เหมือนกับไม่มีเรื่องอะไร พระธุดงค์หวดด้วยแส้ สะดุ้งตื่นเหงื่อโชกทั้งตัว ปรากฏรอยแส้ถูกยังเจ็บแสบอยู่ เรานึกว่าเป็นจริง ตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่าความฝัน ต่อนั้นมาได้มีความคิดถึงเรื่องอาชีพของมนุษย์ที่กระทำกันอยู่ ตั้งต้นแต่ฝนตกดินชุ่มฉ่ำลงมือทำนาและเรื่องอะไรจิปาถะ ตลอดถึงปีใหม่ลงมือทำนาอีกอย่างนี้อยู่ตลอดชีวิต มาคิดเห็นว่าเกิดมานี้แสนทุกข์ลำบากจริงๆ ทำงานไม่มีเวลาหยุดยั้ง แต่ก่อนมาไม่เคยนึกคิดอย่างนี้เลยสักที มีแต่มัวเมาด้วยการเพลิดเพลินตามประสาคนชนบท เพราะสมัยนั้นหนุ่มสาวเกือบไม่รู้จักการใช้การหาเงิน เพราะธรรมชาติป่าเถื่อนยังอุดมสมบูรณ์ด้วยผักและลูกไม้นานาชนิด เข้าป่าหามาได้แบ่งปันกันบริโภคระหว่างญาติพี่น้อง สองวันสามวันก็ไม่หมด เรื่องกระบวนการสามัคคีบ้านนาสีดาเป็นเยี่ยมกว่าบ้านอื่นใน ๒-๓ ตำบลที่อยู่ใกล้เคียงกัน หากมีโจรขโมยเกิดขึ้นก็พร้อมใจกันอยู่เวรยามตลอดคืนรุ่ง คนสมัยนี้ได้ยินเข้าจะหาว่าพูดเท็จเหลวไหลไม่มีความจริง อนิจจา โลกหนอโลก  หมุนเร็วเหลือเกิน เห็นจะไม่มีวันหมุนกลับเสียแล้ว ความหลังจะเป็นความฝันของคนเก่าแก่

   เรายังคิดต่อไปอีกว่าพี่ๆน้องๆทุกคนที่เติบโตมาจะต้องมีครอบครัวและก็แยกย้ายออกไปทำมาหากินเฉพาะส่วนตัว คิดไปๆว่าบิดามารดาจะไม่มีใครเลี้ยงดู แล้วเกิดสลดสังเวชว่าตัวเราเองจะต้องเป็นคนเลี้ยงดูบิดามารดาจนตลอดชีวิตท่านทั้งสอง

อีบุ๊ค อัตตโนประวัติ
และ อีบุ๊คอื่นๆของ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี 

   เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี เจ้าคุณพระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์  ขนฺตยาคโม) ได้เดินรุกขมูลมาเป็นครั้งแรก ได้เข้าไปอาศัยในวัดที่เราอุปัฏฐากอยู่ เป็นโอกาสอันดีจึงได้เข้าปฏิบัติท่าน แต่เนื่องด้วยที่วัดเป็นป่าทึบ ไข้มาลาเรียชุกชุมท่านเป็นไข้อยู่ไม่ได้ จึงได้ออกไปจำพรรษาที่อื่นและได้ชักชวนให้เราไปจำพรรษากับท่านด้วย ออกพรรษาแล้วท่านได้กลับเมืองอุบลฯ ซึ่งเป็นถิ่นเดิมของท่าน  ก่อนจะเดินทางตามท่านไปเราได้เอาดอกไม้ ธูป เทียนใส่ขันแล้วไปขอขมาโทษผู้เฒ่าผู้แก่ที่เราคุ้นเคย  ท่านก็ให้ศีลให้พร ขอให้ไอ้หนูจงสำเร็จตามความปรารถนาทุกประการ พร้อมด้วยหลั่งน้ำตาร้องไห้  เราได้ติดสอยห้อยตามท่านอาจารย์สิงห์ฯ รอนแรมไปในป่าและบ้านเล็กบ้านน้อย  เมื่อเป็นไข้ก็พักนอนตามร่มไม้ ไข้สร่างแล้วก็เดินต่อไป พร้อมกันนั้นก็ทำความเพียรภาวนาไปในตัว เป็นเวลาเดือนกว่าจึงถึงเมืองอุบลฯได้บวชเป็นสามเณร เรียนภาษาไทยต่ออยู่ ๓ ปี จบประถมศึกษาบริบูรณ์  ต่อนั้นได้เรียนนักธรรมและบาลีอีกปีกว่า เลยบวชเป็นพระเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖

  ในปีนี้พระอาจารย์สิงห์ ได้กลับมาจำพรรษาที่เมืองอุบลฯ อีก ออกพรรษาแล้วพร้อมด้วยพระมหาปิ่น ปัญญาพโล (น้องชายท่านอาจารย์สิงห์) และพระหลายองค์ด้วยกันได้ออกเดินรุกขมูลไปในที่ต่างๆ เดินตัดลัดป่าดงมูลและดงลิง ซึ่งเขาเลื่องลือในสมัยนั้นว่าเป็นป่าช้างดงเสือ ผ่านจังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์

ตลอดถึงจังหวัดอุดรธานี ซึ่งในเวลานั้นเราเพิ่งออกฝึกหัดใหม่ได้ผจญภัยอันตรายทุกข์อย่างยิ่ง คือ วันหนึ่งเดินไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แขวนกลดนอนในป่า พอมืดค่ำลงมีฝนขนาดหนักตกลงมา โชคดีที่เราได้เตรียมปลดมุ้งเอาผ้าครองใส่ในบาตรแล้วเอากลดครอบตัวไว้ ฝนตกจนนอนไม่ได้น้ำท่วมจนถึงที่นอน นั่งอยู่พักใหญ่ฝนจึงค่อยซาลง พระที่เป็นเพื่อนองค์หนึ่งซึ่งเขาเคยเดินรุกขมูลก่อนเราชวนว่าไปเถอะเข้าไปในหมู่บ้าน เราจึงสะพายบาตรและหอบเครื่องบริขารของท่านอาจารย์มหาปิ่นฯ พากันออกเดิน อนิจจาเอ๋ย ไปหลงทางวกไปเวียนมาไม่ถึงหมู่บ้านสักที ทั้งบ่าก็สะพายบาตรและหอบเครื่องบริขารท่านอาจารย์ฯ ด้วย แขนก็เหนื่อยล้าเหน็บชาไปหมด จะหยิบเอาเข็มทิศในย่ามออกมาดูก็ไม่ได้ ให้เพื่อนหยิบออกมาดูจึงรู้ว่าทิศเหนือ ทิศใต้ ไปประเดี๋ยวหมาเห่าจึงรู้ว่าถึงบ้านแล้ว ได้ไปพักที่วัดร้างกุฏิไม่มีฝา ฝนสาดเปียกทั้งหมด รุ่งเช้าออกมาบิณฑบาตได้ข้าวเหนียวกับกล้วยน้ำว้าลูกหนึ่งมาฉันแล้วก็ออกเดินต่อไป ในชีวิตซึ่งไม่เคยทุกข์ระกำถึงขนาดนี้  เดินวันยังค่ำ หิวก็หิว เหนื่อยก็เหนื่อย  วันต่อมาเป็นวันตรุษจีนเขามาทำบุญอาหารมากหน่อย ฉันอาหารพอมีเรี่ยวแรง
 


   เมื่อเดินทางถึงบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี  พอพบท่านอาจารย์เสาร์  กนฺตสีโล และท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อยู่ ณ ที่นั้น ได้เข้าฟังธรรมเทศนาจากท่านมีความชื่นใจสงบสบายดี ได้พักอยู่กับท่าน ๒-๓ คืน ท่านอาจารย์สิงห์ฯ ได้พากลับไปจำพรรษาที่บ้านหนองลาด อำเภอสว่างแดนดิน  จังหวัดสกลนคร ในปีนี้เราทำความเพียรอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีการทำความเพียรภาวนาตลอดวันค่ำคืนรุ่ง พร้อมกันนั้นก็ผ่อนอาหารฉันน้อยที่สุด คือ ทำคำข้าวเหนียวเป็นคำๆ แต่ ๖๐ คำ  ถอยลงโดยลำดับถึง ๓ คำ ฉันอยู่ ๓ วัน แล้วก็เพิ่มขึ้นโดยลำดับถึง ๕ คำ ฉันอยู่ได้ ๕ วัน ๑๐ คำ ฉันอยู่ได้ ๑๐ วัน  ๑๕ คำ ฉันอยู่ได้ ๓ เดือน กับข้าวก็มีแต่พริกกับเกลือเท่านั้น ตลอดเวลา ๓ เดือนกิจวัตรเป็นต้นว่า บิณฑบาต ปัดกวาดลานวัดและหามน้ำ ตลอดถึงอาจริยวัตร ไม่ขาดสักวัน ออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นฯ เรียกตัวให้ไปพบเพื่อกิจของสงฆ์บางอย่าง หลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับไป จำพรรษากับท่านอาจารย์สิงห์ฯ อีก

   พระคณาจารย์ทั้งหลายที่ลงไปจำพรรษาที่เมืองอุบลฯพากันทำเรื่องยุ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯเลยปลีกหมู่หนีไปจำพรรษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗  เราได้ข่าวว่าท่านอาจารย์มั่นฯ หนีชาวหมู่เข้าป่าไปคนเดียว ใครไปตามก็ไม่พบ เราสองคนกับพระครูสีลขันธ์สังวร (อ่อนสี) ได้ไปตามหาขึ้นไปถึงพม่า เข้าใจว่าท่านจะไปทางโน้น เราไปถึงผาฮังฮุ้ง  ซึ่งเป็นเขตแดนของเมืองปั่น ประเทศพม่าก็ไม่ปรากฏวี่แววว่าท่านได้ไปทางนั้น เราได้ไปพักที่หมู่บ้านปะหร่องซึ่งเป็นชาวเขา

   ผา “ฮังฮุ้ง” นี้นับว่าสูงมาก เดินจากหมู่บ้านชาวปะหร่องไปในราว ๓ ชั่วโมงจึงถึง ขณะนั้นอยู่หมู่บ้านปะหร่องยังมองเห็นพระธาตุปะหร่องที่อยู่บนผาฮังฮุ้งอยู่ลิบๆ พระธาตุนี้ขึ้นไปไหว้ยากที่สุด  ถ้าเป็นผู้ชายทางที่จะขึ้นไปเป็นชั้นๆ  เมื่อขึ้นไปถึงตอนบนสุดใกล้จะถึงพระธาตุอีกในราว ๑๐ เมตร  จะต้องเหนี่ยวโซ่ใช้สองเท้ายันหน้าผาขึ้นไปจึงจะขึ้นไปได้  ถ้าเป็นผู้หญิงจะต้องขึ้นอีกทางหนึ่งซึ่งมีโซ่อยู่แล้ว เขาก่อเป็นบันไดแต่อิฐหลุดหมดแล้ว ถ้าจะขึ้นก็ต้องคลานขึ้นไปจึงจะถึง เมื่อไปถึงข้างบนแล้วจะมีเจดีย์องค์หนึ่งซึ่งเขาก่อใหม่ มีฐานกว้างในราว ๒ เมตรเศษ ส่วนสูงในราว ๘ เมตร เราได้ขึ้นไปไหว้แล้วกลับมานอนพักที่หมู่บ้านปะหร่องอยู่สองคืนจึงได้กลับลงมา การเดินทางลำบากมาก ต้องเดินไปตามลำห้วยและหน้าผาชันมาก กลับมาพักทำความเพียรที่เขตพม่าต่อไทยอยู่ในราว ๑๐วัน  จึงได้เดินข้ามดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (ดอยอ่างขางนี้เดิมเขาเรียกว่า“ดอยมหาขาง” ซึ่งชาวบ้านเขาแปลว่า“ผีหวงที่สุด”)ได้มาพักทำความเพียรที่ถ้ำตับเต่าอีก ๑๐ กว่าคืน ออกจากถ้ำตับเต่าแล้วได้หลงทางพลัดเข้าไปในเขาลึก เดินตามลำธารคิดว่าเหมือนลำธารทางภาคอีสาน คือลำธารทางภาคอีสานสุดยอดจะเป็นโคกไปเลย อันนั้นที่ไหนได้สุดยอดลำธารเป็นหน้าผาสูงชันลิบ พอดีไปถึงหน้าผามืด  พร้อมกันนั้นเกิดอุบัติเหตุเราพลาดก้อนหินล้มลง หินบาดฝ่าเท้าเป็นแผลเหวอะหวะ เราเอาผ้าอังสะพันแล้วเดินปีนป่ายขึ้นหน้าผา ถึงยอดเขาเห็นรอยชาวบ้านเขามาหาไม้ ก็เข้าใจว่าใกล้บ้านแล้ว แต่มันก็ค่ำแล้ว เดินไปสักประเดี๋ยวได้ยินเสียงกวางตื่นเต้นคึกคักร้องปี๊บเปิ๊บ เราตกใจ พอตั้งสติได้รู้ว่าเป็นเสียงกวางจึงจุดโคมเทียนแล้วเดินต่อไป เหนื่อยก็เหนื่อย เพลียก็เพลีย ทั้งหลงทางอีกด้วย ตกลงกันว่าพวกเราต้องนอนบนเขานี้แหละในคืนนี้ เขาลูกนั้นลมจัดมาก จะกางกลดก็ไม่ได้จึงเอากลดกางแล้วครอบตัวนอน ในคืนวันนั้นมดก็ตอม ปลวกก็เจาะเพราะไม่ได้อาบน้ำ เหงื่อโชกทั้งตัว มดมาตอมกินเหงื่อ เราเอาผ้าปิดตาไว้แล้วก็นอนครึ่งหลับครึ่งตื่นจนสว่าง

   พอสว่างขึ้นมองไปเห็นทุ่งนาที่เราผ่านมาอยู่ลิบๆ เตรียมบริขารแล้วก็ออกเดินลัดโคกไป โดยเข้าใจว่าหมู่บ้านคงอยู่ทิศนี้แน่ แม้เท้าก็เจ็บ ทีแรกมันมึนชาจึงไม่รู้สึกเจ็บ เดินคราวนี้หนทางเป็นหินลูกรังเจ็บที่สุด ค่อยกระเถิบไปสักครู่หนึ่งก็ถึงทางไปหมู่บ้านอย่างที่เราหมายมั่นไว้จริงๆ พอไปถึงหมู่บ้านซึ่งมีอยู่สองหลังคาเรือน เราเข้าใจว่าคงจะพอได้อาศัยบิณฑบาตพอฉัน สักประเดี๋ยวมีชายคนหนึ่งออกมาหา เราพูดเปรียบเปรยนิดหน่อยว่าคืนนี้เราหลงทางนอนป่า ทั้งเท้าก็เจ็บ เราบิณฑบาตไม่ได้ เราอยู่ที่นี้จะได้พออาศัยฉันอาหารสักสององค์จะได้ไหม เขาก็รับรองว่า“ได้เจ้า” พระครูสีลขันธ์ฯ ที่ไปด้วยเลยนอนเป็นลมแขม่วๆอยู่ลุกไม่ได้ เราคอยท่าฉันอาหารอยู่เป็นเวลานานก็ไม่เห็นใครเอาอาหารมาถวาย จึงได้สั่งให้พระครูสีลขันธ์ฯไปมองดูชาวบ้านว่าเขาทำอะไรอยู่ ก็ปรากฏว่ามีแต่เด็กเล็กๆ เราเรียกให้มาหาถามว่าผู้ใหญ่ไปไหนกันหมด ก็ได้ความว่าผู้ใหญ่เข้าป่าไปหาใบตองมารีดมวนบุหรี่ขาย เราถามว่ามีข้าวสุกไหม เราจะแลกด้วยไม้ขีดไฟ เขาบอกว่ามีแล้วจึงไปเอาข้าวกับยอดผักชะอมและน้ำพริกมาหนึ่งกระติบ เราดีใจว่าจะได้ฉันข้าวแล้ว ถามเขาว่ามีอีกไหม เขาก็บอกว่ามี เราจึงได้เอาไม้ขีดไฟอีก ๒ กล่องให้ไปแลกข้าวมาอีกหนึ่งกระติบพร้อมกับอาหาร พอฉันอาหารแล้วที่ไหนได้ ยิ่งเจ็บแผลมากกว่าเก่าลุกเดินไม่ได้ จึงนอนแจ๋วอยู่ในที่นั้นจนตะวันบ่าย จึงได้ถามเขาว่าหมู่บ้านข้างหน้ามีบ้างไหม ไกลเท่าใด เขาบอกว่ามีไม่ไกล เราจึงอุตส่าห์เดินไปพักที่หมู่บ้านข้างหน้านั้นอยู่ ๑๐ คืน แผลที่เท้าพอทุเลา  จึงได้เดินต่อไป

   คราวนี้นับว่าโชคดีนักหนา พอเดินวันค่ำถึงบ้านมโนราห์มีชาวบ้านออกมาหาบอกว่ามีตุ๊เจ้าองค์หนึ่งอยู่ที่ป่าเมี่ยง แม่ปั๋ง
ชื่อตุ๊เจ้ามั่น เขาไปบวชเณรเพิ่งกลับมาเมื่อวานนี้  เราถามลักษณะท่าทีและการปฏิบัติก็แน่ชัดว่าเป็นท่านอาจารย์มั่นฯแน่แล้ว รุ่งเช้าฉันจังหันแล้วเราก็ออกเดินทางไปนอนที่ถ้ำดอกคำ วันรุ่งขึ้นฉันจังหันแล้วก็เดินทางขึ้นภูเขาไปจนกระทั่งถึงป่าเมี่ยง แม่ปั๋งในเวลาบ่าย เห็นท่านเดินอยู่องค์เดียว ลงไปที่ลำธาร อาบน้ำแล้วสะพายกระบอกน้ำขึ้นมา พอท่านเห็นเราท่านก็พูดว่า “ท่านเทสก์มาหรือ” ในที่นั้นท่านได้เทศนาให้เราฟังเป็นใจความว่า “ลูกศิษย์ลูกหาของผมมีมากมาย  ถ้าองค์ใดปฏิบัติตามที่ผมสอน คือ พิจารณากายคตาสติจนถึงเป็นธาตุและสภาวะตามเป็นจริง องค์นั้นจะปฏิบัติได้มั่นคงและเจริญงอกงามโดยลำดับ”  พรรษานี้พวกเราสามองค์ได้อยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น แต่เราได้ขึ้นไปจำพรรษาบนดอยซึ่งท่านเคยอยู่มาก่อน
ที่นั้นไม่ใช่กุฏิธรรมดา แต่ท่านได้เอาต้นไม้แทนเสา ฝาและหลังคามุงด้วยใบตองพอกันฟ้ากันฝนอยู่จำพรรษาได้ ซึ่งห่างจากที่นั้นขึ้นไปในราว ๕ เส้น  เราได้อุบายธรรมเทศนาจากท่านอาจารย์มั่นฯ แล้วตั้งใจว่าเอาละทีนี้ เราจะต้องฝึกหัดตนใหม่ พิจารณากายคตาทุกลมหายใจเข้า-ออกตลอดพรรษา รู้สึกว่าปลอดโปร่งสบายดี มีอุบายต่างๆให้พิจารณามากมาย

   พรรษาต่อมาเราได้ลาท่านอาจารย์มั่นฯขึ้นไปจำพรรษาที่บ้านมูเซอร์ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในที่นั้นไม่เคยมีพระไปจำพรรษาเลยสักที เห็นจะเป็นเราเป็นองค์แรกไปจำพรรษา ณ ที่นั้น  เมื่อเราขึ้นไปถึงจวนเข้าพรรษาแล้วให้เขารีบทำกุฏิให้อยู่ บังเอิญปีนั้นเกิดฟ้าแล้งฝนไม่ตก คนในหมู่บ้านนั้นอดข้าวเกือบทั้งหมู่บ้าน พอทำกุฏิให้เราอยู่เสร็จสรรพฝนเทลงมาใหญ่โต ทำให้ข้าวในไร่ของเขาเขียวชอุ่มงามดี ปีนั้นพวกมูเซอร์ทั้งหมู่บ้านได้กินอิ่มหนำสำราญ เขาหาว่าเป็นบุญของเขา เราได้สอนเขาให้ละอบายมุขต่างๆ เขาพร้อมใจกันปฏิบัติตามเรา
   ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ควรนำมากล่าวในที่นี้ แต่ไม่ใช่เรื่องธรรมะ คือมีคนป่ากลุ่มหนึ่งออกมาหาพวกมูเซอร์ คนกลุ่มนี้พวกมูเซอร์มาอยู่นานถึง ๕๐-๖๐ ปีแล้วไม่เคยเห็นเลยสักที เมื่อเขาออกมาขอกินอาหารต่างๆ ก็กินกันเอร็ดอร่อยอย่างคนหิวโหย เราถามว่าอร่อยดีไหม เขาตอบว่าอร่อยดี เราเกิดสงสารเอ็นดูอยากจะให้เขาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอย่างพวกมูเซอร์ ซึ่งอุปกรณ์การทำมาหากิน เป็นต้นว่าจอบ เสียม มีด พร้าไม่มี เราจะไปขอให้ทางการช่วยเหลือ เราจึงบอกกับเขาว่า ถ้าอร่อยอย่างนั้นให้พวกเธอมาอยู่อย่างพวกมูเซอร์ แล้วทำมาหากินจะไม่อดอยากอย่างอยู่เดี๋ยวนี้ เขาบอกว่า “โอ๊ย พวกข้าเป็นคนป่าจะทำอย่างนั้นไม่ได้แผ่นดินจะกลับปลิ้น(หมายถึงแผ่นดินจะพลิก)”  เราขายขี้หน้าแทบแย่ คนพวกนี้พูดภาษาเมืองยอง เราฟังได้ทุกคำ เขาไม่มีผ้านุ่ง เมื่อออกมาหาพวกมูเซอร์เขาเก็บผ้าที่มีไว้มานุ่งแล้วจึงค่อยออกมา มีหอกเป็นอาวุธสำหรับล่าสัตว์เป็นอาหาร มีผู้หญิงและเด็กเล็กอยู่ด้วยกันในราว ๒๐-๓๐ คน ที่อยู่ของพวกเขาอยู่ไม่เป็นที่ เมื่อเขาอยู่ที่ใดก็เอากิ่งไม้มาคลุมพอกันฟ้ากันฝนนิดหน่อย  แล้วใครจะไปหาที่อยู่ของพวกเขาก็ไม่เห็น ต่อเมื่อเขาหนีไปแล้วจึงจะเห็นร่องรอย ฉะนั้นเขาจึงเรียกคนพวกนี้ว่า “ผีตองเหลือง” แต่พวกเขาก็ไม่ชอบคำว่า “ผี” เพราะว่าผีนั้นพวกเขาเองก็กลัว เขาจึงไม่ให้เรียกว่าพวกเขาเป็นผีตองเหลือง เขาให้เรียกตัวเขาเองว่า “คนป่า” สิ่งที่แปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าผู้ชายคนใดล่าสัตว์ได้ ผู้หญิงจะชอบมานอนด้วย เป็นธรรมเนียมของเขา เนื้อที่เขาย่างแห้งแล้วเขายังเอามาให้เรา แต่เรารับประทานไม่ได้เหม็นเขียวมากเพราะมันรมด้วยควันไฟ อาหารของพวกเขาถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ก็กินลูกไม้และน้ำผึ้งที่หามาได้ระคนกับไม้ผุกินเป็นอาหาร
   ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่หมู่บ้านชาวมอญชื่อบ้านหนองดู่ เขตอำเภอปากบ่อง(อำเภอป่าซางในปัจจุบัน) จังหวัดลำพูน พระมอญที่เป็นสมภารอายุ ๘๐ ปี ได้ฝึกหัดกรรมฐานกับพระธุดงค์จนเกิดความรู้แปลกๆ ต่างๆ ขึ้นเกิดอัศจรรย์ จึงยอมสละขอญัตติเป็นพระธรรมยุตหมดทั้งวัด สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์  ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ สมัยท่านไปอยู่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อครั้งเป็นที่พระญาณดิลก ได้เป็นอุปัชฌาย์ญัตติให้พระมอญทั้งหมด แล้วท่านสั่งให้เราไปเป็นสมภาร ในพรรษานี้เราได้เทศนาอบรมชาวมอญทั้งหมู่บ้าน พวกเขาเลื่อมใสศรัทธาได้พากันสละผีมอญเกือบทั้งหมดหมู่บ้านหันมานับถือพระไตรสรณคมน์ ยังเหลืออีกก๊กหนึ่งจะหมด แต่เราไม่มีโอกาสอยู่  เราได้ออกจากวัดบ้านหนองดู่กลับมาภาคอีสาน ก่อนจะกลับเราได้ไปนิมนต์ท่านอาจารย์มั่นฯให้กลับมาด้วย เรากราบเรียนท่านว่า “อยู่จังหวัดนี้มาได้ ๑๐  กว่าปีแล้ว ก็ไม่เห็นมีคนกี่คนปฏิบัติตาม  สู้ทางภาคอีสานเราไม่ได้ คนทางภาคอีสานบ่นถึงครูอาจารย์เป็นนักเป็นหนา น่าสงสารพวกเขาเหลือเกิน เราปฏิบัติมาในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เราหาวิเวกได้ตามชอบใจ สิ่งที่ควรจะได้ควรจะเป็นก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว  นิมนต์เถิด นิมนต์ท่านอาจารย์กลับเถิด”  ท่านบอกว่าให้พิจารณาดูก่อน เราเข้าใจว่าท่านรับนิมนต์แล้ว จึงได้มีหนังสือมาถึงท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม  พนฺธุโล) ที่จังหวัดอุดรธานี ขอให้ท่านส่งพระหรือฆราวาสคนใดคนหนึ่งไปรับท่านอาจารย์มั่นฯ  กลับมาจังหวัดอุดรธานี ท่านคงมาแน่ แล้วเราก็กลับมาจังหวัดอุดรธานีพร้อมกับเด็กคนหนึ่ง

   ณ ที่นั้นเราได้ผจญภัยอย่างร้ายแรง โดยพระท้องถิ่นเขาไม่อยากให้อยู่ คือ ได้ทราบว่าเมื่อก่อนเขาร้องขอมาทางคณะสงฆ์ว่าไม่ให้พระคณะธรรมยุตไปอยู่ในเกาะภูเก็ต พอพวกเราเข้าไปจึงต้องผจญภัยอันใหญ่หลวง คือ ถูกเผากุฏิบางแห่ง จนกระทั่งถูกปาด้วยก้อนอิฐและขับไล่โดยประการต่างๆ ทางเจ้าคณะจังหวัดพังงาได้ขับไล่ให้พวกเราหนีจากท้องถิ่นที่เขาปกครอง เมื่อพวกเราไม่หนีเขาจึงฟ้องร้องไปทางพระผู้ใหญ่และได้ส่งศึกษาธิการจังหวัดมาขับไล่พวกเรา เราจึงพูดความจริงให้ศึกษาธิการจังหวัดฟังว่า พวกเราไม่ได้มาเบียดเบียนใครทั้งหมด แต่จะมาอบรมศีลธรรมและเผยแพร่ศาสนาอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองมิใช่หรือ ต่อมาผู้ช่วยสังฆมนตรีจึงได้มีหนังสือไปต่อว่าเจ้าคณะจังหวัดพังงาด้วยประการต่างๆ เรื่องจึงค่อยสงบลง

   เป็นที่น่าเห็นใจ เกาะภูเก็ตในสมัยนั้นเหมือนกันกับคนละประเทศ คนจังหวัดอื่นๆ น้อยคนที่จะได้เห็นเกาะภูเก็ต และน้อยคนในเกาะภูเก็ตที่จะออกมาเที่ยวตามหัวเมือง เรียกว่าต่างคนต่างอยู่ คำว่า “พระธรรมยุต” น้อยคนที่จะรู้จัก การบริหารคณะธรรมยุต มหานิกายก็ไม่เข้าใจ เหตุนั้นพอพวกเราเข้าไปในเกาะภูเก็ตจึงเป็นของแปลกประหลาดมาก กรรมกรชาวอีสานก็เพิ่งเข้าไปในเกาะภูเก็ต ชาวบ้านเห็นพากันมองเป็นตาเดียวกันหมด น่าขัน เขาพากันเลื่องลือว่าคนภาคอีสานแห้งแล้งอดอยาก กินเด็กน้อยเป็นอาหาร ตามชนบทเมื่อเขาเห็นคนภาคอีสานก็พากันวิ่งเข้าบ้านปิดประตูมิด ถ้าเห็นอยู่ในป่าก็พากันวิ่งเข้าป่าหายเงียบ เราได้ไปอยู่ที่จังหวัดพังงา ๑  พรรษา ผจญภัยอย่างยิ่งดังกล่าวมาแล้ว ต่อมาได้ขยับมาอยู่ที่เกาะภูเก็ตกระทั่งได้ ๑๕ พรรษา จึงได้ลาญาติโยมกลับมาภาคอีสาน การไปอยู่เกาะภูเก็ตเป็นเหตุให้พระท้องถิ่นและญาติโยมเปลี่ยนสภาพไปหลายอย่าง โดยเฉพาะการเทศนาและการบริหาร  นับว่าเป็นประโยชน์แก่พระท้องถิ่นมาก ตามประเพณีเดิมชาวบ้านเขาเข้าหาพระและกราบพระต้องนั่งขัดสมาธิ (ขัด-สะ-หมาด) พวกเราไปสอนให้ทำความคารวะโดยให้นั่งพับเพียบ นับว่าเรียบร้อยดีมาก  พวกเราสละทุกอย่างเพื่อประโยชน์แก่ชนชาวภูเก็ตและจังหวัดพังงาดังกล่าวแล้ว

   เราพิจารณาเห็นว่าเราแก่ชรา เดินรุกขมูลมาก็มากแล้วอิดโรยเหนื่อยล้าแก่ชราลง ควรที่จะหาที่พักทำความเพียรภาวนาวิเวกเฉพาะตัว เห็นว่าที่วัดหินหมากเป้งเหมาะที่สุด จึงได้เข้ามาอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ การอยู่เป็นที่จำเป็นจะต้องมีการก่อสร้างและปรับปรุงวัดให้ดูสะอาด เมื่ออยู่ไปก็พัฒนาให้เจริญไปเรื่อยๆ จนกระทั่งญาติโยมทางกรุงเทพฯ และหมู่บ้านใกล้เคียงรู้จักเข้าไปสนับสนุนช่วยกันทำถาวรวัตถุ จนสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ทรงยกย่องให้เป็น “วัดพัฒนาตัวอย่าง” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เราสร้างวัดมิใช่เพื่อประโยชน์แก่คนนับถือ แต่เราสร้างวัดเพื่อให้สะดวกแก่การทำกิจวัตรในพระพุทธศาสนาเท่านั้น คนจะนิยมนับถือก็เป็นเรื่องของบุคคลต่างหาก เราก่อสร้างวัดมา ๒๐ กว่าปีมาแล้ว คำว่า “ขอ” หรือ “เรี่ยไร” ไม่เคยออกจากปากเราแม้แต่คำเดียว สร้างอะไรขึ้นมาก็มีแต่ญาติโยมผู้มีศรัทธาบริจาคให้ทั้งนั้น

  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ มีผู้ชักชวนให้ไปเผยแพร่ธรรมะที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย  พร้อมด้วยพระ ๓ องค์ ฆราวาส ๒ คน ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปพักอยู่ที่สิงคโปร์ ๑๐ คืน ณ ที่นั้นเขาให้พักที่ตึกชั้น ๒๐ เราวิเวกสบายดี ทำความเพียรสนุกทั้งกลางคืนและกลางวัน มีญาติโยมมาอบรมธรรมะประจำทุกคืน คืนละ ๒๐-๓๐ คน ต่อจากนั้นได้ไปออสเตรเลีย พักอยู่ที่ออสเตรเลียอาทิตย์กว่า ได้ไปเทศนาอบรมที่สมาคมจีน ๒ หน แล้วเดินทางกลับมาสิงคโปร์อีก ได้ไปพักอยู่ที่เก่าอีก ๑๐ คืน จึงเดินทางไปอินโดนีเซีย พักอยู่ที่อินโดนีเซีย ๒ อาทิตย์กว่าแล้วเดินทางกลับมาพักที่เก่าที่สิงคโปร์อีก นับว่าศรัทธาของเจ้าของบ้านที่เราพักอาศัยที่สิงคโปร์แก่กล้าเป็นอย่างยิ่ง ยอมสละให้เราอยู่อาศัยโดยไม่คิดมูลค่าแม้แต่นิดเดียว ในการเดินทางไปและกลับในครั้งนี้ บริษัทการบินไทย จำกัด ให้บริการตลอดเวลา โดยเฉพาะพลอากาศโทชู สุทธิโชติ ได้เดินทางไปส่งถึงสิงคโปร์ และขากลับก็ไปรับที่สิงคโปร์ เราเดินทางไปครั้งนี้เป็นเวลา ๓ เดือนกว่า หลังจากนั้นก็ได้กลับไปที่สิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง ได้ไปพักที่เดิมอีกเป็นเวลานาน เพราะเขาอยากจะสร้างวัดที่นั้น แต่สถานที่ไม่เหมาะเราจึงไม่ได้สร้าง

นับแต่เราบรรพชาอุปสมบทมาเป็นเวลา ๖๒ พรรษา สุข-ทุกข์ แสนสาหัส (ใจ) เราก็ได้ประสบมาแล้ว
ความเกิดอีกของเราควรจะยุติได้แล้ว

พระนิโรธรังสี

วัดหินหมากเป้ง
อำเภอศรีเชียงใหม่  จังหวัดหนองคาย
 เมษายน  ๒๕๒๙
*** ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่  พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

     

สถิติวันนี้

 46 คน

สถิติทั้งหมด

153259 คน

เริ่มเมื่อ 2011-12-10

 

วัดอาจาโรรังสี บ้านคำข่า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ๔๗๑๓๐ โทร. ๐-๔๒๙๘-๑๐๘๗